- คำถามที่เจอบ่อย
- รวบรวมคำถามและคำตอบ เกี่ยวกับรถเครน ที่ลูกค้าสอบถามเข้ามาบ่อย
คำถามที่ถูกถามบ่อย
รถเครนคืออะไร
รถเครนมีกี่ประเภท
รถเฮี๊ยบคืออะไร
รถเครน 25 ตัน ทำไมยกของ 25 ตันไม่ได้
กระเช้าห้อยสลิง กับกระเช้าปลายบูม ต่างกันอย่างไร
ป็อกเก่ตปูน หรือ บั๊กเก่ตปูน
สัญญาณมือเครน คือ อะไร เบส เรีย ต๋ง มีที่มาจากไหน
ใบ ปจ.2 ใบ คป.2 และใบเซอร์คนขับ คือ อะไร
- รถเครน คือ อะไร
รถเครน หรือ ปั้นจั่น ในภาษากฎหมายไทย
รถเครนมีหลายประเภทถูกพัฒนามาจากหลายประเทศ ทั้งประเทศที่แพ้สงคราม หรือประเทศที่แรงงานหายาก เป็นยุคเริ่มแรก ต่อมาหลายประเทศจึงเริ่มผลิตกันต่อมา ประเทศไทยนั้นไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตเครน โดยทั่วไปแล้ว ในเมืองไทย เรามีรถเครนหลักๆอยู่ไม่กี่ประเภท แต่ก่อนจะพูดถึงประเภทของรถเครน ต้องขออธิบายเรื่อง เครนในภาพรวมก่อน อ้างอิงจากมาตรฐานอเมริกา
เครนไม่เคลื่อนที่ (Immobile Cranes) เช่น Tower Crane, Gantry Crane, Overhead Crane, Ring crane(หาดูยากในเมืองไทย เพราะว่าเป็นเครนที่มี Capacity ที่สูงมาก)
เครนเคลื่อนที่ (Mobile Cranes) เช่น รถเครนไฮโดรลิกล้อยาง รถเครนไฮโดรลิกตีนตะขาบ รถเครนบูมสานล้อยาง รถเครนบูมสานตีนตะขาบ รถเครนแบบยกแล้ววิ่ง(Pick and Carry Cranes) รถไฟเครน เรือเครน และอื่นๆ เครนเคลื่อนที่ถูกผลิตออกมาหลายสิบประเภท แล้วแต่ลักษณะการใช้งาน ประดิษฐ์ ผสมปนเปกันไปมากมาย แม้กระทั่งทาวเวอร์เครนที่ติดกับรถเครนก็ยังมีในต่างประเทศ หรือรถเครนบางชนิดก็ไม่มีคำจำกัดความในภาษาไทย
- รถเครนล้อยางหลักๆในเมืองไทยที่ใช้กัน มี 3 ประเภท (ยังไม่นับรถบรรทุกติดเครน) อ้างอิงมาตรฐานญี่ปุ่น
1. Rough Terrain Cranes, เรียกว่า รถเครน 4 ล้อ, รถเครนบิ๊กฟุต, รถเครนสั้น
รถเครน ประเภทนี้ คือ รถเครนล้อยาง ที่มีป้อมขับเพียงป้อมเดียว ในการสั่งการทั้งระบบขับเคลื่อน และระบบไฮโดรลิกการยกของเครน รถเครน ชนิดนี้ มีประสิทธิภาพในการเข้าที่แคบ พื้นที่ขรุขระ มากกว่ารถเครนล้อยางประเภทอื่นๆ ถูกออกแบบมาให้ขับเคลื่อนได้ทั้ง 4 ล้อ หรือ แบบ 2 ล้อ และที่สำคัญสามารถปรับล้อได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการปรับล้อหน้าอย่างเดียว ปรับล้อหลังอย่างเดียว ปรับล้อ4ล้อในทิศทางเดียวกัน(คล้ายๆการเดินของปู) ปรับล้อ4ล้อในทิศทางตรงกันข้ามกัน(ทำให้สามารถตีวงแคบๆได้) รถเครนประเภทนี้สำหรับ ในช่วงปีนี้ เจ้าตลาดยังเป็นรถเครนจากประเทศญี่ปุ่นเป็นหลัก เพราะว่ายังสามารถนำเข้ามือสองเข้ามาได้ แนวโน้มในอนาคตรถเครนจะมีขนาดเล็กลงๆ กับบูมที่ทำงานได้หลากหลายมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บูมระบบ Pythagoras ที่สามารถทำงานในแนวนอนได้ เป็นต้น ข้อจำกัดของรถเครนประเภทนี้ คือ ไม่เหมาะสมสำหรับการวิ่งในระยะทางไกลๆ ต้องขึ้นเทรลเลอร์ไป ถ้าวิ่งทางไกลมากๆ เกียร์จะร้อน และพัง มูลค่าการซ่อมหลายแสน การเดินทางหลักจึงใช้รถเทรลเลอร์แบบเปล (Low Bed) ในการเคลื่อนที่รถเครนประเภทนี้ แต่ยุคหลังๆก็มีพัฒนาระบบการวิ่ง ทำให้วิ่งไกลได้มากขึ้น แต่ยังวิ่งได้ไม่เท่ารถเครนประเภทถัดไป
2. Truck Cranes. เรียกว่า รถเครน 10-12 ล้อ, รถเครนยาว
รถเครน ประเภทนี้ คือ โครงสร้างรถบรรทุกที่ถูกติดตั้งระบบเครนไฮโดรลิกเข้าไป มีแชสซีปกติ ระบบขับเคลื่อนเหมือนรถบรรทุกเกือบทุกประการ ทำให้มี 2 ป้อม ป้อมแรกเป็นป้อมสำหรับขับรถ(ป้อมหน้า) ส่วนอีกป้อมเป็นป้อมสำหรับบังคับเครน(ป้อมหลัง) เป็นที่นิยมในเมืองไทยเพราะว่าสามารถวิ่งไกลได้ ในอดีตรถเครนที่เป็นเจ้าตลาดเป็นรถเครนญี่ปุ่น แต่ยุคหลังๆก็มีรถเครนจีนเข้ามาหลายยี่ห้อ รถเครนประเภทนี้มีข้อจำกัด เช่น ต้องใช้พื้นที่ในการทำงานเยอะ และไม่สามารถยกจากด้านหน้าได้ (บางรุ่น)
3. All Terrain Crane, เรียกว่า รถเครนล้อเรียง รถเครนใหญ่
รถเครนประเภทนี้ เป็นลูกผสมระหว่าง 2 ประเภทข้างบน สามารถวิ่งทางไกลได้ สามารถปรับล้อได้อย่างอิสระ ถูกสร้างมาเพื่อชดเชยจุดด้อยในด้านต่างๆ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นรถเครนที่มีขนาดใหญ่ เช่น 80 ตันขึ้นไป ในเมืองไทยตอนนี้มีของหลายประเทศ และราคาแพงมากครับ
- รถเฮี๊ยบ คือ อะไร ทำไมเรียกรถเฮี๊ยบ
รถเฮี๊ยบ หรือ Boom Truck(USA) Truck Loader Crane(Japan) Vehicle Loading(Australia)
หรือ รถบรรทุกติดเครนนั่นเอง
เฮี๊ยบ มาจากยี่ห้อแรกของเครนติดรถบรรทุก ที่เข้ามาเมืองไทย เหมือนเราเรียกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่ามาม่า หรือเรียกการถ่ายเอกสารว่าซีรอกส์(Fuji Xerox) เฮี๊ยบ หรือ HIAB เป็นชื่อตราสินค้าของ Hydraliska Industri AB บริษัทนี้อยู่ที่เมืองเล็กๆแห่งหนึ่งในสวีเดน โดยนายเอริค ผู้ที่ก่อตั้งบริษัทสกี ตั้งแต่ปี 1944 ที่ประยุกต์การทำงานของระบบไฮโดรลิกเข้ามากับเครื่องของรถบรรทุก ในเวลาเดียวกันที่ประเทศฟินแลนด์ ก็มีพี่น้อง 3 คนก็พัฒนาเครื่องมือเกี่ยวกับกลไกตัวนี้เช่นกัน 5 ปีหลังจากนั้น สิ่งประดิษฐ์นี้ได้เริ่มทำการผลิตในประเทศฟินแลนด์ เวลาล่วงเลยมาอีก 28 ปี บริษัทเก่าแก่ (ก่อตั้งปี 1989) เกี่ยวกับอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งจากฟินแลนด์ ปกติทำเกี่ยวกับงานทรัพยากรธรรมชาติ เช่น หินปูน เป็นต้น ได้นำระบบนี้มาพัฒนาเพิ่มเติมในด้านวิศวกรรม เพื่อนำมาใช้ในงานก่อสร้าง และงานป่าไม้ จนแพร่หลายเข้าไปสู่วงการป่าไม้ วงการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมทั่วโลก เป็นต้นมา แม้แต่ประเทศรอบข้างของประเทศไทย ก็เรียกติดปากกันว่าเฮี๊ยบ เช่นกัน.
- ความเข้าใจผิด 2 ประการ ที่คนทั่วไปไม่รู้
1. รถเครนหนักกว่ารถบรรทุกทั่วไปอยู่ประมาณ 3 เท่า เพราะฉะนั้นคำนวณพื้น คำนวณทางเข้าให้ดีก่อน
2. รถเครน 25 ตัน ไม่ได้แปลว่ายกได้ 25 ตัน ดูรูปประกอบ จะเห็นว่าถ้ารถเครน 25 ตัน ยกของห่างตัว 10 เมตร น้ำหนักยกก็เหลือแค่ประมาณ 7 ตันแล้ว น้ำหนัก 25 ตันที่รถเครนกำหนดมา เป็นน้ำหนักในอุดมคติที่ใช้งานจริงไม่ได้ เพราะว่าถ้ายก 25 ตัน จะต้องเป็นของน้ำหนัก 25 ตัน ที่ชิ้นเล็กมาก และยกได้แค่ขึ้น แล้วก็วางลง ใช้ทำงานอะไรไม่ได้เลย โดยประสบการณ์แล้ว แค่น้ำหนัก 50% ของพิกัดรถ ก็ยกลำบากแล้ว เช่น รถเครน 25 ตัน ยกของ 12.5 ตัน ก็ต้องวางแผนการยกให้ดี หรือรถเครน 50 ตัน ยกของ 25 ตัน ก็ต้องวางแผนการยก ทดสลิงให้ดี
มีความเข้าใจผิดอีกหลายประการ จะมานำเสนอให้ในตอนต่อๆไปครับ
- ถังปูน หรือ ป๊อกเกตปูน (Concrete Buckets)
ประเทศไทยเรียกกันว่า ป็อกเก่ต แต่จริงๆแล้ว มันมาจากคำว่า Bucket ต้องออกเสียงว่า บั๊กเก่ต
แต่เหมือนความเคยชินของวงการรถเครนไทย เพราะว่าคนที่เริ่มใช้คนแรกๆ ทำให้เรียกผิดๆกัน บั๊กเก่ตปูนก็มีหลายขนาด ถ้าอยากรู้น้ำหนัก ให้คำนวณปริมาตรปูน (หน่วยลูกบาศก์เมตร หรือ คิว) คูณด้วย 2.4 จะได้น้ำหนักของปูน บวกกับน้ำหนักของตัวบั๊กเก่ตปูน และบวกน้ำหนักสมทบอีกที ยกตัวอย่างเช่น
เครน 25 ตัน ถือบั๊กเก่ตปูน ปริมาตรปูน 0.5 คิว รถเครนจะคำนวณน้ำหนักที่เท่าไหร่
น้ำหนักรวม = น้ำหนักปูน (0.5 x 2.4) + น้ำหนักบั๊กเก่ตปูน (0.3) + น้ำหนักสมทบ (0.5) = 2 ตัน
- สัญญาณมือในประเทศไทยยังใช้ผิดๆกันอยู่ ส่วนประเทศอื่นๆ สัญญาณมือก็แตกต่างกันไป หรือแม้กระทั่งภาคสนาม ภาคของจริงในเมืองไทย ก็มีเป็นสิบๆแบบ บางประเทศใช้ธงแดงธงขาว บางประเทศใช้วิทยุสื่อสาร แล้วแต่ความถนัด แต่สุดท้ายกฎหมายไทยได้ยึดหลักการใช้สัญญาณมือจากอเมริกามา และประกาศใช้เมื่อหลายปีก่อน
เบส เรีย ต๋ง มีที่มาจากที่ไหน?
เบส มาจากคำว่า หะเบส หมายถึงดึง หรือ ลาก
เช่น หะเบสสมอเรือ คือ การถอนสมอเรือ เป็นต้น
ทหารเรือจะรู้จักดี
ไม่แน่ใจว่ามาจากภาษาอังกฤษ คำว่า Aweigh (อะ-เว่ะ)
หรือ ภาษามาเลย์ คำว่า Heret (เฮอเร่ต)
แล้วผิดเพี้ยนกลายเป็น หะเบส ในที่สุด
เรีย มาจากคำว่า หะเรีย หมายถึง หย่อนลงช้าๆ
ภาษาของชาวเกาะมาเลย์ และหมู่เกาะอินโดนิเซีย
จะมีคำใกล้เคียง คือ คำว่า ALIR (อาลีเอ้อ)
อาจจะผิดเพี้ยนกลายเป็น หะเรีย ในที่สุด
ต๋ง หมายถึง ผูกให้อยู่นิ่งๆ
ภาษาของนักท่องเรือหมู่เกาะชวา มีคำว่า Tokong (โตคอง)
อ่านเร็วๆ น่าจะกลายเป็นคำว่า ต๋ง
เครดิต พล. เรือเอก ประวิทย์ ศิวรักษ์
- ใบ ปจ. 2 และใบเซอร์ คือ อะไร
ใบ ปจ. 2 คือ ใบ คป. 2 แบบใหม่ หรือเรียกกันแบบง่ายๆว่า แบบตรวจสอบสภาพรถเครน โดยวิศวกรรับประกัน
รายการตรวจเช็คของ ปจ. 2 ก็เหมือน คป. 2 แทบทุกอย่าง แต่มีเพิ่มเติม 2 ประการ คือ
1. การทดสอบปั้นจั่น (เครน)
2. ชื่อพนักงานบังคับปั่นจั่น
ส่วนรายการตรวจหลักๆก็ เป็นการตรวจสภาพทั่วไปของรถเครนตามข้อกำหนดของกฎหมาย และระยะเวลา โดยทั่วไป ใบ ปจ.2 ก็จะทำหน้าที่เป็นหลักประกันว่ารถเครนคันนี้สภาพดี ผ่านการตรวจสอบ และทดสอบแล้ว
ใบเซอร์คนขับรถเครน เป็นระเบียบตามกฎหมายใหม่ของไทย เพิ่งออกเมื่อปี 2554 ที่คนขับรถเครนต้องผ่านการอบรม เพื่อรับประกันความปลอดภัยในการทำงาน สามารถดูรูปตัวอย่างได้ คนนี้จะเป็นพนักงานขับรถเครนที่ทำคะแนนได้สูงสุด คือ 95% ของบริษัทเรา ในรุ่นที่ 4 บริษัทของเราจะเปิดอบรมเครนทุกปี โดยปกติจะทุกกลางปี ถ้าสนใจสามารถส่งคนเข้ามาเรียนกับเราได้ ส่ง e-mail เข้ามาหาเราได้เลยครับ
Good knowledge, thanks
ReplyDeleteขอบคุณสำหรับความรู้เครนดีๆ เช่ารถเครน
ReplyDelete